ตำนานไหมไทย
ในอดีตการเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมมีการทำกันในลักษณะที่เป็นครัวเรือนขนาดเล็ก และใช้บริโภคเองภายในครัวเรือน มีการทำเองไปใช้ในงานพิธีงานต่างๆ เช่น งานบุญ งานแต่งงาน เป็นต้น
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แห่งกรุ’รัตนโกสินทร์ ได้มีการส่งเสริมการใช้ผ้าไหม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยได้รับความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น แต่การดำเนินก็ทำได้เพียงระยะหนึ่งโครงการดังกล่าวก็ได้หยุดชะงักไป เพราะเกษตรกรยังคงที่จะทำในลักษณะแบบเดิมไม่มีความเคยชินต่อสิ่งที่จะมีการปรับเปลี่ยนทางด้านการผลิตไปสู่แบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนาประยุกต์ขึ้นจากความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่น
จนกระทั่งในยุคของหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดจุดเปลี่ยนของไหมไทยขึ้น โดยบุคคลชาวอเมริกาที่มีชื่อว่า เจมส์ แฮร์สัน วิสสัน ทอมป์สัน หรือที่ชาวไทยรู้จักรกันดีในนามว่า จิม ทอมป์สัน เป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้านศิลปะ โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ลาว และเขมร ท่านผู้นี้ได้มีการเสาะหา เก็บรวบรวมซื้อผ้าไหมไทยลวดลายต่างๆ เก็บสะสมไว้ และได้มีความสนใจศึกษาลวดลายดีๆ ในหมู่บ้านที่เป็นแหล่งการผลิตไหม ตลอดจนการเสาะหาช่างทอผ้าไหมที่มีฝีมือ โดยได้ค้นพบช่างที่ถูกใจในกรุงเทพฯ บริเวณบ้านครัว (บริเวณด้านหลังโรงแรมเอเชียราชเทวีในปัจจุบัน) ซึ่งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านครัวในปัจจุบัน (2548) ก็ยังคงหลงเหลือให้ไปเยี่ยมชมได้
ชาวบ้านครัวดั้งเดิมเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายเขมร เข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากมีความชำนาญ และความสามารถในการทอผ้าไหมที่มีติดตัวมาแล้ว ยังมีความสามารถในการรบทางเรือด้วย จากที่จิม ทอมป์สัน ได้มาส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าไหม ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ลักษณะการทอผ้าไหมดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมาก็จะเป็นการผลิต ผืนละ 3-4 หลา ต่อมาได้มีการปรับขบวนการทอผ้าไหมไทยโดยนำเอาตลาดเข้ามาใช้เป็นการวางแผนการผลิต รวมทั้งการใช้สีสันต่างๆ เพื่อการขยายตัวตลาดผ้าไหมไทยมีเพิ่มมากขึ้น นับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดไหมไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จักไหมไทย และนำเอาผ้าไหมไทยไปใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นรู้จักผ้าไหมไทยมากขึ้น และทำให้ผ้าไหมไทยได้มีโอกาสเข้าสู่วงการเสื้อผ้าต่างประเทศ ส่งผลให้ตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดไหมไทยที่ใหญ่ที่สุ
จากอดีตถึงปัจจุบัน ผ้าไหมไทย ได้มีโอกาสเข้าสู่วงการภาพยนตร์ตะวันตก โดยมีการตัดเป็นเครื่องแต่งกายของผู้แสดงในเรื่องเบนเฮอร์ (Ben – hur) รวมทั้งละครบรอดเวย์ The King and I ต่อมาปิแอร์ มาลแมอ เป็นนักดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศสได้นำผ้าไหมไปออกแบบชุด ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในคราวที่พระองค์เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในปี 2502 นับเป็นโอกาสของไหมไทยที่ได้มีการก้าวนำไปสู่วงการเสื้อผ้าโลกได้เป็นอย่างดี
จากจุดเริ่มต้นในการนำไหมไทยสู่เวทีการค้าโลก นับเป็นลู่ทางที่ค่อนข้างสดใสที่ได้ส่งผลสะท้อนกลับมายังรัฐบาลไทยที่จะต้องกำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจนเพื่อวางรากฐานของการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปถึงผู้ทอผ้าไหมแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายโดยนักการตลาดมืออาชีพเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไหมไทยเป็นสินค้าหนึ่งในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น