การเลี้ยงไหม

การเลี้ยงไหม

       ไหม คือ เส้นใยจากรังไหมผีเสื้อชนิด Bombyx mori ในวงศ์ Bombycidae ผีเสื้อชนิดนี้อ้วนป้อม มีขนขาวและสีครีมคลุมเต็มตัว ปีกมีลายเส้นสีน้ำตาลอ่อนหลายเส้นพาดตามแนวขวาง เมื่ออยู่ในช่วงวัยอ่อนจะเป็นตัวหนอนสีขาวหรือครีม มีรยางค์เล็ก ๆ สั้น ๆ คล้ายขาที่ปลายหาง หนอนไหมที่เลี้ยงกันในประเทศไทยกินใบหม่อนเป็นอาหาร เมื่อหนอนโตเต็มที่จะถักใยหุ้มดักแด้เพื่ฟักตัวเป็นผีเสื้อ ในช่วงนี้เองที่เรานำมาต้มเพื่อสาวเส้นใยออกมาทอเป็นผืนผ้าได้
       ไหมเป็นแมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (completely metamorphosis insect) แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และผีเสื้อ วงจรชีวิตไหมจะเริ่มต้นจากไข่ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 9-10 วัน กลายเป็นหนอนไหม ในระยะนี้หนอนไหมจะกินใบหม่อนเป็นอาหาร และนอนประมาณ 4-5 ช่วง ใช้เวลาประมาณ 22-26 วัน พอหนอนไหมแก่ หรือสุกจะชักใยทำรังหุ้มตัวเอง ตัวไหมจะลอกคราบเป็นตัวดักแด้อยู่ในรัง ช่วงเป็นรังไหมใช้เวลาประมาณ 8-10 วัน จากนั้นดักแด้ก็จะกลายเป็นผีเสื้อ ผีเสื้อไหมจะใช้น้ำลายซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างละลายใยไหม และเจาะรังไหมออกมาผสมพันธุ์และวางไข่ โดยจะมีชีวิตอยู่ในช่วงนี้ประมาณ 2-3 วัน ก็จะตาย (ที่มา : อุไรวรรณ นอลเพ็ชร์, สุรจิต ภูภักดิ์, รักเกียรติ แสนประเสริฐ. ฐานข้อมูลการผลิตเส้นไหมและการใช้สีธรรมชาติในจังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)


 เส้นไหมที่ชาวบ้านสมพรรัตน์นำมาทอเป็นผืนผ้านั้น ส่วนหนึ่งได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของชาวบ้านเอง สมัยก่อนชาวบ้านสมพรรัตน์จะเลี้ยงหนอนไหมสายพันธุ์นางน้อย ปัจจุบันกรมหม่อนไหมได้พัฒนาสายพันธุ์และส่งเสริมให้เลี้ยงพันธุ์ดอกบัว พันธุ์นางตุ่ย เป็นต้น
       ไชยยงค์ สำราญถิ่น กล่าวว่า ชื่อไหมพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่จะมีคำว่า “นาง” นำหน้า เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงจะเรียกชื่อตามผู้ที่เลี้ยงคนก่อนที่เลี้ยงมาอย่างต่อเนื่องจนได้ผลดี และมีคุณสมบัติดีเด่นเฉพาะตัว เกษตรกรจึงให้เกียรติแก่เจ้าของพันธุ์ โดยการเรียกชื่อเจ้าของซึ่งส่วนใหญ่จึงใช้คำว่า “นาง” นำหน้าและต่อด้วยผู้เลี้ยงมาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ไหมเช่น นางเหลือง นางเขียว นางลิ่ว นางน้อย นางน้ำ ฯลฯ ยุคต่อมาก็ใช้เรียกชื่อตามสถานที่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดที่นำมา เช่น โนนฤษี หนองแก้ว เขียวสกล เป็นต้น (ที่มา : ไชยยงค์ สำราญถิ่น. (2554). ไหมพันธุ์ไทย:ข้อมูลบางประการของไหมพันธุ์ไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.thaikasetsart.com)
  
ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านพันธุ์นางตุ่ยพันธุ์ไหมไทยนางน้อยสกลนคร(SP1)
ไหมพันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ-1พันธุ์ไหมลูกผสมอุบลราชธานี 60 - 35

การเตรียมการก่อนการเลี้ยงไหม

ชาวบ้านจะต้องเตรียมการก่อนที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงไหมในแต่ละรุ่น ดังนี้
       1. อุปกรณ์การเลี้ยงไหม เช่น กระด้งเลี้ยงไหม มีด เขียง ตาข่ายถ่ายมูล จ่อ ตะแกรงร่อน ตะเกียง ถังน้ำ เข่งหรือตะกร้าเก็บใบหม่อน รองเท้าแตะ สารโรยตัวไหม ปูนขาว เป็นต้น
       ***จ่อเลี้ยงไหม ที่พบในหมู่บ้านสมพรรัตน์นั้น จ่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร จะซื้อขายกันในราคา 300 บาท โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะซื้อมาจากผู้ผลิตในหมู่บ้านโนนสว่าง ต.สุขแสง อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี และบ้านหนองเม็ก ต.โนนค้อ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี***




  2. ห้องเลี้ยงไหม สำหรับในส่วนของอุปกรณ์และห้องเลี้ยงไหมจะต้องทำความสะอาดโดยการล้างด้วยผงซักฟอกและตากแห้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค และเป็นวิธีการป้องกันกำจัดโรคที่ดีที่สุด ชาวบ้านสมพรรัตน์ส่วนใหญ่จะทำโรงเรือนไว้ใต้ถุนบ้าน มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และคลุมด้วยมุ้งไนล่อนเพื่อป้องกันแมลง




 3. ไข่ไหมพันธุ์ดี ส่วนใหญ่ชาวบ้านสมพรรัตน์จะเลี้ยงหนอนไหมพันธุ์นางน้อย พันธุ์ดอกบัว พันธุ์นางตุ่ย ซึ่งชาวบ้านจะได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศิลปาชีพ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี และจากประสบการณ์การเลี้ยงของชาวบ้านสมพรรัตน์ พบว่า การเลี้ยงหนอนไหมพันธุ์นางน้อยจะให้เส้นไหมสวยและสาวได้เยอะ

4. แปลงหม่อนที่สมบูรณ์พร้อมที่จะเก็บมาเลี้ยงไหม ซึ่งหากชาวบ้านรายใดเป็นสมาชิกของโครงการศิลปาชีพก็จะได้
รับการจัดสรรแปลงปลูกหม่อนของโครงการ








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น