พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถต่อผ้าไหมไทย
ปีพุทธศักราช 2513 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดนครพนม ทำให้นาข้าวล่มเสียหาย เมื่อน้ำลดลงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัย เพื่อพระราชทานสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือนร้อน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรเห็นหญิงชาวบ้านมารับเสด็จ เพื่อมารับพระราชทานสิ่งของ ล้วนแต่นุ่งซิ่นไหมมัดหมี่และนั่งรอรับเสด็จบนพื้นน้ำแฉะๆ แม้กระนั้นความงามของผ้าไหมมัดหมี่ก็เป็นที่สบพระอัธยาศัยยิ่งในการเสด็จฯ ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า การนำสิ่งของไปแจกเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะยาว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงตระหนักในพระราชหฤทัยทันทีว่าชาวบ้านเหล่านี้ แม้จะยากจนก็ใส่ผ้าไหมมัดหมี่กันหมด จึงควรส่งเสริมให้ทำงานฝีมือที่พวกเขาคุ้นเคย คือการทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้เป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ยามเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม หรือนาล่ม เป็นต้น
ในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีกระแสพระราชดำรัสชมชาวบ้านที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า “ผ้าสวย” ชาวบ้านก็กราบบังคมทูลซื่อๆว่า “ผ้าของคนจนใส่นี่หรือสวย” สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็รับสั่งว่า “ชอบจริงๆ ถ้าจะให้ทำให้จะได้ไหม” พระองค์ได้รับคำกราบบังคมทูลต่อว่า “จะใส่หรือเปล่าจ๊ะ ถ้าใส่จริง ฉันก็จะทำให้” พระองค์จึงรับสั่งว่า “ใส่สิจ๊ะ” ที่นครพนมนี้เองจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการผ้าไหมมัดหมี่ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยการส่งเสริมการทอผ้าไหมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ชาวบ้านทำกันได้เองโดยไม่ต้องมีครูไปให้การอบรม เนื่องจากเป็นมรดกตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทุกครัวเรือนรู้จักการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าใช้กันเองอยู่แล้ว หากทรงส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ให้เขาทอได้มากขึ้นจนนำออกขายเป็นรายได้ ก็จะตรงกับพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงแรกของการส่งเสริมการทอผ้าไหมมัดหมี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระองค์ทรงขอให้ชาวบ้านทอผ้าไหมเพิ่มขึ้นจากที่ทำไว้ใช้ในบางโอกาส เช่น งานทำบุญและงานแต่งงาน โดยจะทรงรับซื้อไว้สำหรับตัดเย็บเป็นชุดฉลองพระองค์ โดยทรงตรวจคุณภาพผ้าไหมมัดหมี่ที่ได้รับมาและทรงมีพระราชดำรัสให้เจ้าของผู้ทอผ้าผืนที่สวยเป็นพิเศษทอเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น พร้อมพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับพันธุ์ไหม สีย้อม ลวดลายและคุณภาพของผ้าไหมมัดหมี่แก่เจ้าของผ้าด้วย นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังทรงแสดงความห่วงใยไปยังผู้ทอผ้าโดยโปรดเกล้าฯ ให้คณะทำงานจัดหาอุปกรณ์ทอผ้าเพื่อพระราชทานแก่เขาเหล่านั้น
อนึ่ง การรับซื้อผ้าและพระราชทานอุปกรณ์ทอผ้านั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซึ่งเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มมีผู้ประสงค์ร่วมบริจาคเงินในโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมมัดหมี่และโครงการอาชีพเสริมอื่นๆ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2519 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ”
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเผยแพร่การใช้ผ้าไหมทอพื้นเมืองโดยเฉพาะไหมมัดหมี่ โดยทรงเป็นผู้นำการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ในทุกโอกาส ทั้งโปรดให้ข้าราชบริพารใช้ด้วย เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในส่วนพระองค์จะโปรดใช้ผ้าไหมมัดหมี่ฉลองพระองค์ทั้งแบบไทย และแบบสากล ทรงใช้ฉลองพระองค์เหล่านี้ในการเด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆทั้งภายในประเทศ และเวลาเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ
ในด้านการเผยแพร่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระวิริยะอุตสาหะทุกวิถีทางที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เห็นความงดงามที่มีคุณค่าของผ้าไทย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและศิลปหัตถกรรมไทยจากโครงการศิลปาชีพไปจัดแสดงทั้งในประเทศ เช่นในงานศิลป์แผ่นดิน งานสืบสานสมบัติศิลป์ งานรังสรรค์ปั้นแต่ง และในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดผ้าไทยและแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยฝีมือการออกแบบของดีไซเนอร์ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา สวนอัมพร ในโอกาสต่างๆ รวมทั้งเปิดร้านจิตรลดาอีกหลายสาขา อาทิ ในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งวิมานเมฆ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยจากฝีมือราษฎรในโครงการศิลปาชีพแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ข้าราชบริพาร ข้าราชการชั้นผุ้ใหญ่ ตลอดจนวงการสังคมไทยทุกระดับหันมาใช้ผ้าไทยตัดเย็บเพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ มากมาย
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า “การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นอกจากจะเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่และดีงามของชาติไทย ที่ได้สืบต่อกันมาเป็นเวลานานอีกด้วย ไม่ว่าเศรษฐกิจประเทศจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร การพัฒนาการเลี้ยงไหมก็ต้องดำเนินต่อไป”
และเพื่อให้กิจกรรมด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นไปอย่างมีระบบครบวงจร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านหม่อนไหมของประเทศว่า “สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระจายไปทั่วประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์และคุ้มครองไหมไทย รวมทั้งดำเนินกิจกรรมด้านการวิจัย พัฒนา ส่งเสริมการผลิตแลธุรกิจหม่อนไหม พร้อมประสานกับภาคธุรกิจ เอกชน และเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง
ต่อจากนั้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2552 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้มีการยกฐานะสถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร จัดตั้งเป็น "กรมหม่อนไหม" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญา ค้นคว้าวิจัย และพัฒนาการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ให้ดำเนินไปอย่างแข็งแรง
จากพระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในด้านการอนุรักาผ้าไทยและศิลปหัตถกรรมเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน จนได้รับการยกย่องเทิดพระเกียรติจากหน่วยงานโลก อาทิ เมื่อปีพุทธศักราช 2535 องค์การยูเนสโกได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญทองโบโรพุทโธและประกาศเกียรติคุณของพระองค์ในฐานะที่ทรงส่งเสริมงานด้านศิลปะและการสร้างสรรค์โดยเฉพาะงานด้านหัตถกรรมสิ่งทอรวมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าไทยไม่ให้สูญหายรวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ในชนบทมากว่า 40 ปี นับได้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นผุ้ฟื้นฟู อนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันลำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และเป็นความชื่นชมของชาวโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง จึงเป็นสิ่งที่พสกนิกรชาวไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ล้นพ้นหาที่สุดมิได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น